ล่า "ปลาหมอคางดำ" อย่าลืมล่า "ต้นตอ" ปล่อยปลาลงแหล่งน้ำ
ปัญหา "ปลาหมอคางดำ" ซึ่งเป็นสายพันธุ์ทำลายร้างจากต่างประเทศ ทำลายระบบนิเวศน์ ที่กำลังแพร่พันธุ์ไปหลายแหล่งน้ำธรรมชาติในไทย กลายเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลต้องระดมแนวทางแก้ไข ก่อนที่ในแหล่งน้ำธรรมของไทยจะเหลือแต่ "ปลาหมอคางดำ" จนไม่เหลือปลาสายพันธุ์ท้องถิ่น
ล่าสุดหน่วยงานรับผิดชอบการแก้ปัญหาโดยตรงอย่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567 – 2568 เป็นวาระเร่งด่วน ผ่าน 5 มาตรการ ประกอบด้วย
มาตรการที่ 1 ควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด ด้วยเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ เช่น ใช้อวนรุน เป็นต้น
มาตรการที่ 2 กำจัดปลาหมอคางดำโดยปล่อยปลานักล่าเพื่อควบคุมตามธรรมชาติ เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง และอื่น ๆ ให้ตรงกับบริบทแต่ละพื้นที่
มาตรการที่ 3 นำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้ทำเป็นปลาป่น เพื่อเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง สัตว์น้ำ สัตว์บก หรือแปรรูปเป็นอาหาร
มาตรการที่ 4 สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน ให้มีระบบการแจ้งข้อมูล เก็บข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังไม่ให้แพร่ระบาด
มาตรการที่ 5 สร้างการรู้ ความตระหนัก ให้มีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับทุกภาคส่วน พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางการรับมือ
แม้หลายคนจะพูดไปในทางเอาฮาว่า "ปลาหมอคางดำ" มาผิดที่เพราะเดี๋ยวจะโดนคนไทยจับกินหมด เหมือนกับตั๊กแตนปาทังก้า ที่เริ่มเข้ามาระบาดในไทย เมื่อปี 2506 แต่ปัจจุบันไม่มีการแพร่ระบาดแล้วเพราะถูกจับกินจนหมด
แต่กับ "ปลาหมอคางดำ" คงไม่ง่าย
ที่ไม่ง่ายเพราะ "ปลาหมอคางดำ" เป็นสายพันธุ์ที่ขยายพพันธุ์ได้ไว้และถึกทนปรับตัวอยู่ได้ทุกสภาพแวดล้อม
สำคัญเลยคือการอยู่ในแหล่งน้ำ ซึ่งการกวาดจับให้หมดไปคงไม่ง่าย
คงต้องรอดูกันว่ามาตรการต่างๆที่รัฐบาลนำออกมาใช้นั้นจะได้ผลหรือไม่ "ปลาหมอคางดำ" จะหมดไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยได้เมื่อไหร่
ที่สำคัญต้องหาต้นตอที่นำ "ปลาหมอคางดำ" เข้ามาในไทยจนหลุดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้รบผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
-------------------------------------------
คอลัมน์ "จับกระแสการเมือง" / สมศักดิ์ ไม้พรต ... เขียน / เผยแพร่ 23/7/2024