Header Ads

ไทย - EU นัดถก FTA ครั้งที่ 7 เร่งปิดดีลภายในปีนี้เพื่อขยายการส่งออก

        


สหภาพยุโรป (EU) ถือเป็นหนึ่งในตลาดยุทธศาสตร์สำคัญที่มีมูลค่าการค้าสูงและมีประชากรที่มีกำลังซื้อกว่า 400 ล้านคน ทำให้ไทยให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย–EU อย่างต่อเนื่อง

ด้วยสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นโดยในปี 2567 มูลค่าการค้าระหว่างไทย–EU อยู่ที่ 43,533 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.26% จากปีก่อนหน้า

• การส่งออกจากไทยไป EU อยู่ที่ 24,205 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 10%

• การนำเข้าจาก EU อยู่ที่ 19,328 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 2%ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้า 4,877 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ การเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย–สหภาพยุโรป (EU) รอบที่ 6 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 27 มิถุนายน 2568 มีความคืบหน้าการหารือเป็นไปในทิศทางบวก โดยสามารถตกลงในหลักการเพิ่มเติมได้ 3 บทสำคัญ ได้แก่:

1. บทการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Trade and Sustainable Development: TSD) ยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และประเด็นทางสังคมให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล

2.บทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงข้อมูลกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าได้สะดวกมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จาก FTA ได้อย่างเต็มที่

3. บทอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade: TBT) ลดอุปสรรคจากกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างกัน

นอกจากนี้  ยังมีความคืบหน้าในการหารือเรื่องการเปิดตลาดสินค้า  บริการ  และการลงทุน โดยทั้งสองฝ่ายเตรียมดำเนินการต่อเนื่องในแต่ละกลุ่มงาน ก่อนการเจรจารอบที่ 7 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กันยายน – 3 ตุลาคม 2568 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม 

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่มีความไม่แน่นอน  ทั้งในมิติภูมิรัฐศาสตร์และการค้า กระทรวงพาณิชย์  โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จึงมุ่งมั่นผลักดัน FTA ไทย–EU เร็วที่สุด  หากเป็นไปได้ ให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2568 นี้ เพื่อยกระดับศักยภาพของไทยในการเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เชื่อถือได้  และแข่งขันได้บนเวทีการค้าระดับโลก

--------------------------------

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

Theme images by fpm. Powered by Blogger.