Header Ads

18 ปีรัฐประหาร รัฐธรรมนูญป้องกัน "ปฏิวัติ" ไม่มีจริง

คอลัมน์ จับกระแสการเมือง / สมศักดิ์ ไม้พรต / เว็บไซต์โลกธุรกิจ / เผยแพร่ 19 ก.ย. 67

        ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว (19 กันยายน 2549)

คณะรัฐประหารนำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในสมัยนั้น ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคไทยรักไทยซึ่งนำโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อโค่นล้มในสิ่งที่เรียกกันว่า "ระบอบทักษิณ"

เวลาผ่านไปเกือบ 2 ทศวรรษ

วันนี้ทุกอย่างวนกลับมาที่เดิม

ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทย ซึ่งแปลงร่างจากพรรคไทยรักไทย เป็นแกนนำ

ประเทศไทยมี น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของ นายทักษิณ ชินวัตร (ถูกถอดยศพ.ต.ท.ในยุครัฐบาลลุงตู่) เป็นนายกรัฐมนตรี

ประเทศไทยมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างหลังการช่วงชิงอำนาจกันอย่างเข้มข้นในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

สิ่งเดียวที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนคือ

วันนี้คนที่เคยห่ำหั่นกันแบบเอาเป็นเอาตายมายืนอยู่ฝั่งเดียวกันหมด

        ที่เคยโกรธเกลียดกันมา ถูกอธิบายด้วยคำว่า "ต้องลืมอดีต" เพื่อเดินไปข้างหน้า แล้วมาร่วมกันทำงานในรัฐบาลชุดปัจจุบัน

หลังรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ เราได้รัฐธรรมนูญใหม่มา 1 ฉบับ

เช่นเดียวกันกับหลังการยึดอำนาจจากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เราก็ได้รัฐธรรมนูญใหม่มาอีก 1 ฉบับ

ทั้งสองฉบับผู้นำคณะเขียนรัฐธรรมนูญเป็นคนคนเดียวกัน ที่พยายามเพิ่มดีกรีความเข้มข้นรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ระบอบทักษิณฟื้นคืนกลับมาได้อีก

ผลเป็นอย่างที่เห็น ไม่ประสบความสำเร็จ 

        สกัดกั้นระบอบทักษิณให้กับมาเรืองอำนาจไม่ได้

สิ่งเดียวที่ประสบความสำเร็จคือการป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญถูกแก้ไข

        แต่ก็กำลังถูกท้าทายอย่างหนัก 

กลไกที่เขียนป้องกันไว้ไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยง่ายยังทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี โดยเฉพาะเรื่องบังคับให้ต้องทำประชามติ ที่ยังถกเถียงกันไม่จบว่าตกลงจะต้องทำกี่ครั้ง กี่รอบ

แม้วันนี้นักการเมืองเกือบทุกพรรคจะเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหา 

        ต้องแก้ไข

แต่ก็ไม่ได้เห็นตรงกันในทุกเรื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโละทิ้งทั้งฉบับเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่

การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกือบทุกพรรคการเมืองใช้เป็นนโยบายหนึ่งในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา จะลงเอยอย่างไร

เรื่องนี้น่าสนใจ

ท้ายที่สุดไม่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นหรือไม่ หรือจะแก้กันอย่างไร แก้ไปทีละมาตรา หรือเขียนใหม่ทั้งฉบับ

แต่สิ่งหนึ่งที่แน่ชัดคือ ไม่ว่าจะแก้กี่มาตรา หรือเขียนใหม่ทั้งหมด

รัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถป้องกันรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

ที่นักการเมืองพยายามพูดกันว่าจะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารอีก จึงเป็นเพียงแค่วาทกรรมเรียกคะแนน เพราะเวลาที่กองทัพทำรัฐประหารเขาไม่ต้องถามประชาชน ไม่ต้องทำประชามติ ไม่ต้องสนใจความผิด ไม่ต้องสนใจโทษที่จะได้รับ

ขอแค่ยึดอำนาจให้สำเร็จ..แค่นั้น

"รัฐธรรมนูญ" ต้าน "รัฐประหาร" จึงเป็นได้แค่ภาพฝัน ที่ไม่มีวันเกิดขึ้นได้จริง

Theme images by fpm. Powered by Blogger.