Header Ads

เอลนีโญทำลายพืชผลเสียหาย 48,000 ล้าน


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดเอลนีโญสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรไม่ต่ำ 48,000 ล้านบาท ข้าวเสียหายหนักสุด 37,631 ล้านบาท ถ้าวิกฤตลากยาวถึงปีหน้าจะเสียหายหนักกว่าเดิม

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของเอลนีโญในปี 2566 ที่มีต่อภาคเกษตรไทย โดยคาดว่า เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 อาจสร้างความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรสำคัญของไทยเช่นข้าวนาปี มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายในปี 2566 ประมาณ 48,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นความเสียหายจากข้าวเป็นหลักที่ 37,631 ล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 80 ของความเสียหายภาคเกษตรทั้งหมด

          หากพิจารณาเทียบความเสียหายจากภัยแล้งที่มีต่อข้าวในอดีต พบว่า ภาพรวมความเสียหายของข้าวในปี 2566 น้อยกว่าในปี 2558 ที่เกิดภัยแล้งรุนแรง ทั้งในเชิงมูลค่าและปริมาณผลผลิตข้าวที่เสียหาย แต่มากกว่าปี 2563 ที่เกิดภัยแล้งล่าสุด

         ทั้งนี้ตัวเลขความเสียหายดังกล่าวนี้ เป็นการประเมินความเสียหายด้านพืชเท่านั้น ส่วนด้านปศุสัตว์และประมง แม้จะเป็นช่วงที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมากเช่นกันในช่วงครึ่งปีหลัง แม้อาจได้รับผลกระทบจากความร้อนแล้ง แต่ภาพรวมผลผลิตปศุสัตว์และประมงปีนี้คงไม่ลดลงจากปีก่อนที่เผชิญโรคระบาดในสุกรอย่างโรค ASF

          สำหรับปี 2567 ที่คาดการณ์ว่า เอลนีโญจะทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าปี 2566 และอาจลากยาวไปถึงเดือนมีนาคม 2567 เป็นอย่างน้อย ทำให้ไทยต้องเผชิญสถานการณ์น้ำที่ยากลำบากมากขึ้น ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนที่สะสมมาจากปี 2566 ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงปริมาณน้ำฝนที่น่าจะลดลง

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผลกระทบของเอลนีโญที่มีต่อภาคเกษตรไทยในปี 2567 คงมีความรุนแรงขึ้น สร้างความเสี่ยงต่อผลผลิตสินค้าเกษตรให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะพืชฤดูแล้ง ทั้งด้านปริมาณและจำนวนชนิดพืชที่เสียหาย ซึ่งจะทำให้ดันราคาไปอยู่ในระดับสูง โดยอาจมีตัวเลขความเสียหายมากขึ้นกว่าปี 2566 คือมากกว่า 48,000 ล้านบาท โดยจะมีความเสียหายที่มีต่อข้าวนาปรังเป็นหลัก เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวนาปรังจะทยอยออกสู่ตลาดจำนวนมากในไตรมาสที่ 1 ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำในเขื่อนเป็นหลักและปลูกมากในภาคกลางที่เผชิญระดับน้ำในเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้อยวิกฤต ผนวกกับผลผลิตต่อไร่ที่สูง จึงทำให้เกิดความเสียหายมาก รวมไปถึงพืชฤดูแล้งอื่นอย่างมันสำปะหลัง อ้อย ที่อาจได้รับความเสียหายอย่างชัดเจน

         ที่สำคัญด้วยสภาพอากาศโดยรวมที่ร้อนแล้งในปี 2567 จะส่งผลต่อเนื่องไปถึงการปลูกข้าวนาปีในไตรมาสที่ 2 ที่อาจปลูกไม่ได้หรือมีผลผลิตต่อไร่ที่ลดลง กดดันผลผลิตข้าวนาปี ทำให้ภาพรวมในปี 2567 ความเสียหายของข้าวคงมีสูงมากเพราะเกิดความเสียหายทั้งข้าวนาปรังและนาปี ซึ่งอาจมีตัวเลขความเสียหายใกล้เคียงหรือมากกว่าปี 2558 

          อย่างไรก็ตามมูลค่าความเสียหายจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของเอลนีโญในระยะข้างหน้า รวมถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่จะส่งผลต่อประเภทพืชที่ได้รับความเสียหายด้วย

Theme images by fpm. Powered by Blogger.