Header Ads

ต่ออายุอีกรอบ 'คุณสู้ เราช่วย' ขยายเวลาลงทะเบียนถึง 30 มิ.ย.


วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจ Non-bank ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผ่านโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2567 ล่าสุด ณ วันที่ 24 เมษายน 2568 มีผู้ลงทะเบียนแล้วรวม 1.6 ล้านบัญชี จากลูกหนี้ 1.3 ล้านราย โดยจากการตรวจสอบคุณสมบัติเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2568 พบว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 530,000 ราย หรือร้อยละ 27 ของกลุ่มลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติรวม 1.9 ล้านราย คิดเป็นยอดหนี้รวม 385,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 43 ของยอดหนี้ที่เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 890,000 ล้านบาท

  ทั้งนี้ จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน ส่งผลให้ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางจำนวนมากยังประสบปัญหาการชำระหนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธปท. และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาลงทะเบียนโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2568 ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 เวลา 23.59 น.

  “รัฐบาลยืนยันความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ที่ยังเผชิญปัญหาทางการเงิน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 เวลา 23.59 น. ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดและลงทะเบียนได้ที่ https://www.bot.or.th/khunsoo หรือที่สาขาสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ BOT Contact Center โทร 1213” นางสาวศศิกานต์กล่าว

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า  กระทรวงคลังเตรียมจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 68 พิจารณาปรับเกณฑ์เงื่อนไขโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเงื่อนไขมาตรการจ่าย ปิด จบ ที่กำหนดเงื่อนไขสำหรับลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็นหนี้เสีย (NPL) แต่มียอดหนี้คงค้างไม่สูง ไม่เกิน 5 พันบาท โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพียง 10% ของยอดหนี้คงค้างเพื่อปิดหนี้ได้ทันที โดยเบื้องต้นจะมีการปรับเพิ่มวงเงินหนี้คงค้างเป็น 1-3 หมื่นบาทต่อบัญชี เพื่อให้ครอบคลุมลูกหนี้มากขึ้น

นอกจากนี้ จะมาดูแนวทางในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ NPL ในส่วนที่มูลหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท ซึ่งในส่วนนี้แบ่งเป็นลูกหนี้จากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน ราว 4 แสนกว่าราย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ราว 6.7 หมื่นราย โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้คงค้างนานมาก ก็จะเอามาพิจารณาเงื่อนไขเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อไป ส่วนลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์ วงเงินรวมราว 1 หมื่นล้านบาท ก็อาจจะต้องไปหารือว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง

ขณะที่ลูกหนี้ในกลุ่มนอนแบงก์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด วงเงินรวมราว 7-8 หมื่นล้านบาท ยอมรับว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เบื้องต้นจะต้องหารือรายละเอียดกับนอนแบงก์แต่ละแห่ง โดยต้องมีการแยกประเภทลูกหนี้ เพื่อหารือถึงแนวทางในการแก้ไขต่อไป

นายพิชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันจะมีการพิจารณาแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มที่หนี้มีมากกว่า 1 แสนบาท ซึ่งมีราว 2 ล้านคน โดยพบว่ามีราว 5 แสนราย ที่มีหนี้มากกว่า 1 ล้านบาทก็ต้องไปหารือกับสถาบันการเงินเพื่อพิจารณาแนวทางในการให้ความช่วเยหลือที่เหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นมองว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ส่วนการซื้อหนี้ไม่เหมาะที่จะดำเนินการกับลูกหนี้กลุ่มนี้ 

------------------------

ที่มา : รัฐบาลไทย  และ พรรคเพื่อไทย 

Theme images by fpm. Powered by Blogger.