Moody’s คงเครดิตไทยที่ Baa1 แต่ปรับมุมมองเป็นลบ รับมือความเสี่ยงจากสงครามการค้า
เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2568 Moody’s Investors Service ประกาศคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ระดับ Baa1 พร้อมปรับมุมมอง (Outlook) จาก "มีเสถียรภาพ" เป็น "เชิงลบ" (Negative Outlook) โดยให้เหตุผลหลักจากปัจจัยเสี่ยงภายนอก โดยเฉพาะนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งใช้นโยบายภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) สร้างความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ
Moody’s ระบุว่า ความไม่แน่นอนทางการค้าโลกกำลังส่งผลกดดันการเติบโตเศรษฐกิจ ทั้งในระดับโลกและภูมิภาค โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2568 เหลือ 2.8% จาก 3.3% ขณะที่ประเทศไทยซึ่งพึ่งพาการค้าโลกอย่างสูง จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ Moody’s ได้ปรับลดมุมมองในช่วงปี 2566–2567 จากปัจจัยเสี่ยงเดียวกัน
ในด้านปัจจัยพื้นฐาน Moody’s มองว่าประเทศไทยยังมีฐานะการเงินระหว่างประเทศแข็งแกร่ง ด้วยทุนสำรองกว่า 215,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ณ มีนาคม 2568) โครงสร้างสถาบันการเงินและธรรมาภิบาลที่แข็งแรง ช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะส่วนใหญ่ยังเป็นสกุลเงินบาท และมีอายุหนี้ยาว เผชิญความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนต่ำ
อย่างไรก็ตาม Moody’s ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศในกลุ่มอันดับเดียวกันตั้งแต่ยุคโควิด-19 และมีความเปราะบางต่อแรงสั่นสะเทือนจากภายนอก เช่น มาตรการการค้าสหรัฐฯ ขณะที่การขับเคลื่อนเข้าสู่สมดุลทางการคลังอาจล่าช้า เนื่องจากรายได้ภาษีอาจต่ำกว่าคาดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ด้านสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความเสี่ยงดังกล่าว และอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อบรรเทาผลกระทบ รวมถึงเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเสริมความมั่นคงทางการคลังในระยะยาว ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังคงเป็นศูนย์กลางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยคำขอส่งเสริมการลงทุนปี 2567 สูงถึง 1.13 ล้านล้านบาท สูงสุดในรอบทศวรรษ
สบน. เน้นย้ำว่า แม้ Outlook จะถูกปรับลด แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมหภาคยังคงแข็งแกร่ง ทั้งในแง่ทุนสำรองสูง ความหลากหลายของภาคส่งออก และความสามารถในการรองรับความผันผวนจากภายนอกได้ดี พร้อมยืนยันว่าจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเดินหน้านโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างระมัดระวังเพื่อรักษาเสถียรภาพในระยะยาว
-------------------
ที่มา :สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ : Public Debt Management Office