Header Ads

อาฟเตอร์ช็อก หลังเลือกตั้ง อบจ. ใกล้ถึงเวลา "ไล่หนู ตีงูเห่า" ของจริง!

คอลัมน์ จับกระแสการเมือง #โดย..สมศักดิ์ ไม้พรต #เว็บไซต์ โลกธุรกิจ #เผยแพร่ 2 มกราคม2568


การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ที่ผ่านมา ความน่าสนใจนอกจากผลการเลือกตั้งที่ออกมาแล้ว ยังต้องดูว่าหลังจากนี้จะมีอะไรตามมาอีกหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เป็นที่ทราบกันดีว่าการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองต่างใช้เป็นตัวชี้วัดการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นในอีกปีกว่าๆ ข้างหน้า

ทั้งใช้วัดคะแนนนิยมตัวบุคคล วัดคะแนนนิยมพรรค และวัดจุดดี จุดด้อยของยุทธวิธีที่ใช้หาเสียง 

นัยว่าเพื่อเอาไปปรับเตรียมความพร้อมก่อนทำศึกใหญ่ในวันข้างหน้า

พรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาลปัจจุบันลงทุนลงแรงเต็มที่กับการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้อย่างมาก ส่งผู้ช่วยหาเสียงคนสำคัญอย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ตระเวนปราศรัยหาเสียงในหลายพื้นที่ โดยให้น้ำหนักไปที่ภาคเหนือกับภาคอีสาน และโฟกัสในพื้นที่ที่การเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมาเสียคะแนนไปให้พรรคคู่แข่งสำคัญอย่างภูมิใจไทยกับพรรคประชาชน (ก้าวไกล)

ผลเลือกตั้งที่ออกมาแม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งได้เป็นส่วนใหญ่ แต่กว่าจะชนะได้ก็หืดขึ้นคอในหลายพื้นที่ และหลายพื้นที่ยังไม่สามารถชิงเสียงกลับมาจากคู่แข่งได้

ต่างจากพรรคภูมิใจไทยที่เลี่ยงการปะทะโดยตรงกับพรรคเพื่อไทยโดยใช้วิธีให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ไม่ส่งผู้สมัครลงในนามพรรคโดยตรงในพื้นที่ที่มีการแข่งขันรุงแรง และนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ก็กระดิกเท้าสบายๆ ไม่ต้องไปเดินสายปราศรัยช่วยหาเสียง แต่ในพื้นที่ยุทธสาสตร์ก็ยังกวาดชัยมาได้เกือบทั้งหมด

แสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงของฐานเสียงพรรคภูมิใจไทยในพื้นที่ต่างจังหวัด

ในส่วของพรรคประชาชนนั้น แม้ครั้งนี้จะตั้งความหวังเอาไว้ค่อนข้างมาก แต่เมื่อได้มาเพียงจังหวัดเดียวก็ยังสามารถมองในแง่ดีได้อยู่บ้าง เพราะในพื้นที่ที่แพ้ คะแนนไม่ได้ถูกผู้ชนะทิ้งห่างมาก ทำให้พอมองเห็นวิธีที่จะใช้ต่อยอดทำศึกใหญ่ในวันข้างหน้าได้ต่อไป

ย้อนมาที่พรรคอันดับหนึ่งกับอันดับสองในรัฐบาลอย่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทย

เป็นที่ทราบกันดีว่าแม้จะอยู่ในรัฐบาลด้วยกัน แต่ความสัมพันธ์ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีนัก เริ่มตั้งแต่ตอนที่เพื่อไทยต้องยอมยกกระทรวงมหาดไทยให้ภูมิใจไทยในเจรจาจัดตั้งรัฐบาล 

        ทั้งที่กระทรวงมหาดไทยต้องเป็นของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องจำยอมเพราะถ้าภูมิใจไทยไม่เข้าร่วมเสียงจะไม่พอ

อย่างที่ทราบกันว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงที่มีอำนาจครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด ทำให้ง่ายต่อการขยายฐานเสียง ซึ่งผลก็ออกมาอย่างที่เห็น และสะท้อนออกมาจากการพูดบนเวทีปราศรัยของดร.ทักษิณ ทำนองดักคอกำนัน ผู้ใหญ่บ้านว่ารู้นะถูกเรียกไปและขอให้วางตัวเป็นกลาง

เมื่อผลเลือกตั้งนายก อบจ. ส.อบจ. ออกมาอย่างที่เห็น 

        ประกอบกับมีประเด็นกระทบกระทั่งกันมาเป็นระยะในการทำงานระหว่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทย โดยเฉพาะเรื่องการตัดไฟฟ้าแนวชายแดน เรื่องกาสิโน เรื่องพนันออนไลน์  ยิ่งน่าจับตามองว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นหรือไม่หลังจากนี้

แน่นอนว่าเพื่อไทยต้องการทวงคืนกระทรวงมหาดไทยมาโดยตลอด เพียงแค่รอเวลาเหมาะสมที่จะปรับเปลี่ยน สะท้อนให้เห็นจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีออกมาเป็นระยะ

บางทีหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้อาจจะถึงเวลาของการปรับเปลี่ยน 

        เพราะถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปพรรคภูมิใจไทยจะยิ่งขยายฐานเสียงได้แข็งแกร่งมากขึ้น

ก่อนการเลือกตั้งใหญ่กระทรวงมหาดไทยต้องอยู่ในการกำกับดูแลของพรรคเพื่อไทย โดยทำควบคู่ไปกับการกวาดต้อนบ้านใหญ่ในแต่ละพื้นที่เข้ามาอยู่ในสังกัดให้ได้มากที่สุด เพื่อเพิ่มฐานเสียงตัวเองและตัดกำลังคู่แข่งไปในตัว

อาฟเตอร์ช็อก หลังการเลือกตั้ง นายก อบจ. และส.อบจ.จึงค่อนข้างเป็นไปได้ว่าเกิดขึ้นแน่

เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น

Theme images by fpm. Powered by Blogger.