โพลสองสำนักชี้ตรงกัน "พิธา-ฝ่ายค้าน" ครองใจประชาชน
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนมิถุนายน 2567” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 2,367 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 23-29 มิถุนายน 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนมิถุนายน 2567 เฉลี่ย 4.33 คะแนน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ได้ 4.72 คะแนน
ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 4.94 คะแนน (ลดลงจากเดือนพฤษภาคม) ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหาความยากจน เฉลี่ย 3.94 คะแนน (ลดลงจากเดือนพฤษภาคม) นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาท โดดเด่นประจำเดือน คือ เศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 43.86 ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 54.56 ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ร้อยละ 39.31 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบ คือ อภิปรายงบประมาณ 68 ร้อยละ 40.26
ข่าว/ประเด็นที่ประชาชนสนใจติดตามในเดือนมิถุนายน อันดับ 1 คือ ราคาสินค้า ค่าครองชีพ ร้อยละ 45.43 รองลงมาคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร้อยละ 32.07 และ ความขัดแย้งวงการตำรวจ ร้อยละ 22.50
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจดัชนีการเมืองไทยเดือนมิถุนายน 2567 แสดงถึงความรู้สึกไม่พึงพอใจเท่าใดนักของประชาชนที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เมื่อปากท้องมีปัญหาจึงฉุดให้ดัชนีเกี่ยวกับเศรษฐกิจคะแนนดิ่งลง อีกทั้งกระแสแคลงใจเรื่องการเลือกตั้ง สว. ก็ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนด้วย รัฐบาลจึงต้องเร่งแก้ปัญหาหลักของประชาชน เช่น ความยากจน ราคาสินค้า การว่างงาน และค่าครองชีพ ฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเรียกการสนับสนุนจากประชาชนให้เพิ่มขึ้นโดยไม่หวังใช้เพียงความนิยมของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เรียกได้ว่าภาพรวมดัชนีการเมืองไทยเดือนนี้ “ปากท้องคับข้องใจ การเมืองก็ไม่สดใส” เท่าที่ควร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัญญกานต์ เสถียรสุคนธ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการเมืองไทยในภาพรวมของเดือนมิถุนายนนั้น ลดลงจากเดือนพฤษภาคมอย่างเห็นได้ชัดในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจและด้านค่าครองชีพของประชาชน ที่ลดลงต่ำสุดในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา จากปัจจัยทั้งการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องของสินค้าอุปโภคและบริโภค ทั้งพลังงาน ข้าว เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง ความไม่ชัดเจนของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ปัจจุบันยังไม่สามารถดำเนินการได้ หรือข่าวการเร่งแก้กฎหมายให้ชาวต่างชาติสามารถเช่าที่ดินเพิ่มเป็น 99 ปี และมีกรรมสิทธิ์ถือครองคอนโดมิเนียมเพิ่มเป็น 75% จากเดิม 49% อาจส่งผลต่อการปรับขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ความเชื่อมั่นที่ลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับผลสำรวจที่ระบุว่าประเด็นราคาสินค้าและค่าครองชีพเป็นประเด็นที่ประชาชนสนใจมากที่สุดในเดือนมิถุนายน ยิ่งตอกย้ำถึงความกังวลของภาคประชาชนต่อการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้หลังจากผ่านมาแล้ว 9 เดือนของการทำงาน
ด้าน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2-2567” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคะแนนนิยมทางการเมือง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 45.50 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง มีความรู้ และความสามารถรอบด้าน อันดับ 2 ร้อยละ 20.55 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ 12.85 ระบุว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ อันดับ 4 ร้อยละ 6.85 ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะมีภาพลักษณ์ที่ดี มีความน่าเชื่อถือ การทำงานมีความซื่อสัตย์ สุจริต อันดับ 5 ร้อยละ 4.85 ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำ และมีความรู้ ความเข้าใจปัญหาของประเทศ อันดับ 6 ร้อยละ 3.40 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านการบริหารที่โดดเด่น และมีความน่าเชื่อถือ อันดับ 7 ร้อยละ 2.05 ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะมีประสบการณ์ทำงานด้านการบริหาร เข้าถึงประชาชน และชื่นชอบนโยบายที่ผ่านมา ร้อยละ 3.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน (พรรคประชาธิปัตย์) นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) นายชัยธวัช ตุลาธน (พรรคก้าวไกล) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) พลตำรวจเอกทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ) นายเทวัญ ลิปตพัลลภ (พรรคชาติพัฒนา) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย) และร้อยละ 0.55 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้ พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 49.20 ระบุว่าเป็น พรรคก้าวไกล อันดับ 2 ร้อยละ 16.85 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 15.00 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 4 ร้อยละ 7.55 ระบุว่าเป็น พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 5 ร้อยละ 3.75 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 2.20 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 7 ร้อยละ 1.75 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 8 ร้อยละ 1.55 ระบุว่าเป็น พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.05 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทยรวมพลัง และพรรคไทยภักดี และร้อยละ 1.10 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.60 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.55 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.95 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.45 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.75 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.70 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.10 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.90 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.90 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.80 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.95 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.65 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 23.70 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.10 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.15 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.75 นับถือศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 36.30 สถานภาพโสด ร้อยละ 61.20 สมรส และร้อยละ 2.50 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 20.50 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 38.15 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.20 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.45 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.70 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 8.80 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.65 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.65 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.00 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.75 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 19.30 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.85 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 21.85 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.00 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.65 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.70 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 5.10 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 6.25 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.45 ไม่ระบุรายได้